หลอดเลือดหัวใจตีบ คืออะไร
หลอดเลือดหัวใจตีบ คือ ภาวะที่หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเกิดการตีบแคบลงจากการสะสมของไขมันและสารอื่น ๆ ที่เรียกว่าคราบพลัค ซึ่งเกาะตัวอยู่ตามผนังด้านในของหลอดเลือด เมื่อคราบพลัคสะสมมากขึ้น หลอดเลือดจะแคบลง ทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้น้อยลง หากเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ จะส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือด ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ และอาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเสียหายถาวร หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
หลอดเลือดหัวใจตีบ เกิดจากอะไร
- การสะสมของไขมันในเลือด เมื่อคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีมีปริมาณสูง จะเกาะสะสมตามผนังหลอดเลือด ทำให้เกิดคราบพลัค และเป็นต้นเหตุสำคัญของการตีบของหลอดเลือดหัวใจ
- ความดันโลหิตสูง ทำให้ผนังหลอดเลือดเสียหายง่าย เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการสะสมของไขมันและการอักเสบในผนังหลอดเลือด
- เบาหวาน เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงต่อเนื่อง ทำให้หลอดเลือดเสื่อมสภาพได้เร็วขึ้น เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ
- การสูบบุหรี่ เพราะนิโคตินและสารพิษในบุหรี่ทำให้หลอดเลือดหดตัว เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดคราบพลัค และทำให้หลอดเลือดเปราะบาง
- เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การขาดการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เครียดสะสม และพักผ่อนไม่เพียงพอ ล้วนเป็นตัวเร่งให้หลอดเลือดหัวใจเสื่อมเร็ว
อาการที่มักพบในผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
- รู้สึกเจ็บหรือแน่นที่หน้าอกเหมือนถูกกดทับ โดยเฉพาะตอนออกกำลังกาย หรือรู้สึกเจ็บเมื่อเครียด
- หายใจไม่อิ่ม รู้สึกว่าเหนื่อยง่ายกว่าปกติ
- วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด เหงื่อออกเย็น
- เจ็บร้าวไปที่แขนซ้าย คอ หรือกราม
- คลื่นไส้ เหมือนจะเป็นลม
วิธีป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ออกกำลังกายให้เป็นปกติทุกวัน วันละ 30 นาที เป็นการออกกำลังกายที่ไม่หนักจนเกินไป เช่น วิ่งเหยาะ ๆ เดินเร็ว หรือโยคะ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และครบ 5 หมู่เป็นประจำ
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ควรตรวจสุขภาพประจำปี เช่น ตรวจความดัน ตรวจไขมันในเลือด ตรวจน้ำตาลในเลือด
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์เกินขนาด
- ควบคุมอาการเครียดด้วยการทำสมาธิ และพักผ่อนให้เพียงพอ
สรุป
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แม้จะรักษาให้หายขาดไม่ได้แต่ก็ควรดูแลตัวเองให้ดีเพื่อที่จะสามารถอยู่ร่วมกับอาการต่าง ๆ ได้อย่างไม่ทรมานมาก แต่อย่างไรก็ตามควรเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาจากทางแพทย์จะดีที่สุด เพื่อที่จะได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวายเฉียบพลันในอนาคต